วันพฤหัสบดีที่ 24 เมษายน พ.ศ. 2557

คำถามและคำตอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์



คำถามและคำตอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์

 1)  การลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ซื้อมา เกินกว่าจำนวนเครื่องที่ได้รับอนุญาตในสัญญาอนุญาตให้ใช้กระทำได้หรือไม่

ตอบ  ไม่ได้ เนื่องจากเงื่อนไขการใช้จะต้องเป็นไปตามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิและสิทธิ  ในการทำซ้ำเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ ดังนั้น หากผู้ใดลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์เกินกว่าที่ได้รับอนุญาตถือว่าเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์

2)  การทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถกระทำได้หรือไม่ อย่างไร

ตอบ  โดยหลักการแล้ว การทำซ้ำโปรแกรมคอมพิวเตอร์เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ แต่ผู้ใช้สามารถทำสำเนาได้หากผู้ใช้ได้โปรแกรมคอมพิวเตอร์มาโดยถูกต้องตามกฎหมาย         โดยสามารถทำสำเนาโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในจำนวนที่สมควร เพื่อเก็บไว้ใช้ประโยชน์ในการบำรุงรักษาหรือป้องกันการสูญหาย

3)  การดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ สามารถกระทำได้หรือไม่ และผู้ดัดแปลงจะได้ลิขสิทธิ์ในงานที่ดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นหรือไม่

ตอบ  สิทธิในการดัดแปลงเป็นสิทธิแต่เพียงผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ การดัดแปลง       จะกระทำได้ก็ต่อเมื่อได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ และผู้ดัดแปลงจะเป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ในงานที่ได้     ดัดแปลงนั้นอย่างไรก็ดี กฎหมายได้กำหนดข้อยกเว้นในการดัดแปลงสำหรับผู้ใช้ไว้ 2 กรณี 
(1)  ผู้ใช้สามารถดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในกรณีที่จำเป็นแก่การใช้ เช่น ผู้ใช้

สามารถดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์เท่าที่จำเป็นได้ เพื่อให้สามารถใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นกับเครื่องคอมพิวเตอร์หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์อื่นที่มีอยู่ได้

  (2)  ดัดแปลงเพื่อประโยชน์ในการพิจารณาของศาลหรือเจ้าพนักงานที่มีอำนาจตาม
กฎหมายหรือในการรายงานผลการพิจารณาดังกล่าว เช่น พยานผู้เชี่ยวชาญดัดแปลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์   เพื่อให้ศาลพิจารณาคดีละเมิดลิขสิทธิ์ เป็นต้น

                        ทั้งนี้ จะต้องไม่มีวัตถุประสงค์เพื่อหากำไร ไม่ขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และไม่กระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร                                          
                                                           
(4)  ผู้ซื้อจะสังเกตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ปลอมได้อย่างไร

 ตอบ  ในบางกรณีผู้ซื้อสามารถตรวจสอบได้ง่ายจากบรรจุภัณฑ์ภายนอกของโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น อย่างไรก็ดี ในบางกรณีการตรวจสอบทำได้ยากจึงมีข้อสังเกตสำหรับผู้ซื้อ ดังต่อไปนี้
 
                    -  โปรแกรมคอมพิวเตอร์ราคาถูกเกินความเป็นจริง
                   -  ไม่มีบรรจุภัณฑ์ อุปกรณ์ คู่มือการใช้งาน และไม่มีใบอนุญาต
                   -  บรรจุภัณฑ์ของโปรแกรมคอมพิวเตอร์มีลักษณะสีซีด หรือเป็นสำเนา
                   -  เป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่เสนอขายในการประมูลทางอินเทอร์เน็ต
                   -  ในแผ่นซีดีเพียงหนึ่งแผ่นมีการรวบรวมโปรแกรมคอมพิวเตอร์จากผู้ผลิตหลายราย
เข้าด้วยกัน ซึ่งในทางปกติมิได้รวบรวมเป็นชุดเดียวกัน เป็นต้น
                  
 (5)  การที่ผู้ขายเครื่องคอมพิวเตอร์ได้เสนอติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ต่างๆ ให้โดยไม่คิดมูลค่านั้น เชื่อถือได้หรือไม่ อย่างไร
ตอบ  กรณีที่ผู้ขายเสนอติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ให้แก่ผู้ซื้อเพื่อเป็นการสมนาคุณ
แก่ลูกค้านั้น ผู้ซื้อพึงระวัง เพราะมักจะเป็นการลงโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย หากผู้ขายยื่นข้อเสนอสมนาคุณดังกล่าว ผู้ซื้อควรเรียกให้ผู้ขายมอบสัญญาอนุญาตให้ใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ (License)    ให้แก่ผู้ซื้อด้วย  หากผู้ขายปฏิเสธหรือไม่มีสัญญาอนุญาตส่งมอบให้แก่ผู้ซื้อ ผู้ซื้อไม่ควรรับข้อเสนอการติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ดังกล่าวจากผู้ขาย เนื่องจากเป็น ข้อสันนิษฐานเบื้องต้นได้ว่า โปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นเป็นโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมาย

(6)  การดาว์นโหลดหรืออัพโหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ทางสื่ออินเทอร์เน็ตในลักษณะ Peer-to-Peer  ที่มีการแลกเปลี่ยนไฟล์โปรแกรมคอมพิวเตอร์กันทางอินเทอร์เน็ต โดยไม่ได้มีวัตถุประสงค์  ในการแสวงหากำไร สามารถกระทำได้หรือไม่

 ตอบ  การแลกเปลี่ยนไฟล์โปรแกรมคอมพิวเตอร์กันทางอินเทอร์เน็ต แม้ไม่ได้มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรก็อาจจะเป็นการขัดต่อการแสวงหาประโยชน์จากงานอันมีลิขสิทธิ์ตามปกติของเจ้าของลิขสิทธิ์ และกระทบกระเทือนถึงสิทธิอันชอบด้วยกฎหมายของเจ้าของลิขสิทธิ์เกินสมควร เนื่องจากการอัพโหลดเพื่อแลกเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้น เป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนซึ่งเป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์ ส่วนการดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในลักษณะ Peer- to-Peer นั้น เป็นการทำซ้ำ ซึ่งก็เป็นสิทธิแต่ผู้เดียวของเจ้าของลิขสิทธิ์เช่นกัน

ดังนั้น การอัพโหลดและดาวน์โหลดจะต้องได้รับอนุญาตจากเจ้าของลิขสิทธิ์ก่อน


 (7)  การละเมิดลิขสิทธิ์ที่พบบ่อยในกรณีของบริษัท ห้างร้าน มีกรณีใดบ้าง
ตอบ   มีหลายกรณี เช่น 

ติดตั้งโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ได้รับอนุญาตให้ใช้ สำหรับคอมพิวเตอร์เพียง    1 เครื่อง ลงในคอมพิวเตอร์หลายเครื่อง

 -  ทำซ้ำเพื่อติดตั้งและแจกจ่าย
 -  นำโปรแกรมคอมพิวเตอร์สำหรับสถานศึกษา หรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่มี      ข้อจำกัดอื่นมาใช้เพื่อวัตถุประสงค์ที่ไม่ได้รับอนุญาต เช่น ใช้ในเชิงพาณิชย์ เป็นต้น
  -  แลกเปลี่ยนโปรแกรมคอมพิวเตอร์ในสถานที่ทำงานหรือนอกที่ทำงาน
 -  พนักงานดาวน์โหลดโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกกฎหมายมาลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท เป็นต้น

(8)  การที่พนักงานบริษัทนำโปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ไม่ถูกกฎหมายมาลงในเครื่องคอมพิวเตอร์ของบริษัท กรรมการบริษัทต้องรับผิดหรือไม่อย่างไร
                       
ตอบ  ในกรณีนี้ ให้ถือว่ากรรมการหรือผู้จัดการทุกคนของนิติบุคคลนั้นเป็นผู้ร่วมกระทำผิด เว้นแต่จะพิสูจน์ได้ว่าการกระทำดังกล่าวนั้น ตนไม่ได้รู้เห็นยินยอมด้วย

(9)  การที่ลูกจ้างในบริษัทผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เป็นผู้สร้างสรรค์โปรแกรมคอมพิวเตอร์ตามทางการที่จ้าง ลิขสิทธิ์ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะเป็นของใคร
                       
ตอบ  งานที่ผู้สร้างสรรค์ได้ทำขึ้นในฐานะพนักงานหรือลูกจ้าง ถ้าไม่ได้ทำเป็นหนังสือตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์ในงานนั้นจะตกเป็นของผู้สร้างสรรค์ แต่นายจ้างมีสิทธินำงานนั้นออก เผยแพร่ต่อสาธารณชนได้ตามวัตถุประสงค์แห่งการจ้างงาน  เช่น บริษัทที่ผลิตโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อขาย หากนายจ้างและลูกจ้างในบริษัทไม่ได้มีหนังสือตกลงกันเป็นอย่างอื่น ลิขสิทธิ์จะเป็นของลูกจ้าง แต่นายจ้างมีสิทธินำโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นออกจำหน่ายได้ แต่ไม่มีสิทธินำโปรแกรมคอมพิวเตอร์มาดัดแปลงหรือพัฒนา  ต่อยอด เป็นต้น


ในทางตรงกันข้ามการที่ผู้สร้างสรรค์ได้สร้างสรรค์โดยการรับจ้างบุคคลอื่น

(ไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัท) ลิขสิทธิ์จะเป็นของผู้ว่าจ้าง เว้นแต่ผู้สร้างสรรค์และผู้ว่าจ้างจะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่น  (ไม่จำเป็นต้องทำเป็นหนังสือ) เช่น ผู้ว่าจ้างให้ผู้รับจ้างเขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ในการวาดภาพ โดยที่ผู้รับจ้างนั้นไม่ได้เป็นลูกจ้างในบริษัท และมิได้สร้างสรรค์งานโปรแกรมคอมพิวเตอร์นั้นขึ้นมาก่อนการรับจ้างนั้น เป็นต้น

                       
 ในกรณีของ กระทรวง ทบวง กรม หรือหน่วยงานอื่นใดของรัฐหรือของท้องถิ่นย่อมมีลิขสิทธิ์ในงานที่ได้สร้างสรรค์ขึ้นโดยการจ้างหรือตามคำสั่งหรือในความควบคุมของตน เว้นแต่จะได้ตกลงกันไว้เป็นอย่างอื่นเป็นลายลักษณ์อักษร เช่น ผู้ใต้บังคับบัญชาได้รับคำสั่งจากหน่วยงานราชการของตนให้เขียนโปรแกรมคอมพิวเตอร์เพื่อใช้ประโยชน์ในงานราชการ โดยมิได้ตกลงกันเป็นอย่างอื่น เป็นลายลักษณ์อักษร ลิขสิทธิ์จะเป็นของหน่วยงานราชการ เป็นต้น




 (10)  การใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ที่ผิดกฎหมายมีผลเสียอย่างไรบ้าง

 

ตอบ     - ผู้ซื้ออาจได้รับซอฟต์แวร์รุ่นเก่าหรือซอฟต์แวร์ที่มีข้อบกพร่อง

- การทำซ้ำที่ไม่เหมาะสมอาจทำให้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และข้อมูลที่บันทึก
ไว้เสียหาย หรือมีไวรัสแฝงอยู่
 - ผู้ซื้ออาจเสียชื่อเสียงทางธุรกิจ เสียค่าปรับ หรือถูกจำคุกได้
 - ผู้เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ไม่ได้รับผลตอบแทนอันพึงมีพึงได้จากนวัตกรรม

ที่พวกเขาคิดขึ้น เป็นการบั่นทอนกำลังใจในการคิดสร้างสรรค์ผลงานใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ เป็นต้น


ที่มา:
กรมทรัพย์สินทางปัญญา. คำถามและคำตอบเกี่ยวกับลิขสิทธิ์โปรแกรมคอมพิวเตอร์
[ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก:
http://www.ipthailand.go.th/ipthailand/images/question%26answersoftware.doc

                                                                               

วันพฤหัสบดีที่ 3 เมษายน พ.ศ. 2557